Loading color scheme

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 14 (14th session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ณ เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ได้มีมติประกาศขึ้นทะเบียน “นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage)” ซึ่งเป็นศาสตร์การนวดไทยแบบโบราณ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ตามข้อเสนอประเทศไทย ซึ่งการเสนอครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งนี้มีประเทศต่างๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งสิ้น 62 รายการ แบ่งเป็น Need of Urgent Safeguarding List จำนวน 6 รายการ Representative List 42 รายการ และ Good Safeguarding Practices จำนวน 3 รายการ ซึ่งมีรายการที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนดังนี้

1. รายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่อยู่ในความต้องการการสงวนรักษาแบบเร่งด่วน (List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding) จำนวน 5 รายการ
2. รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) 35 รายการ
3. รายการทะเบียนที่มีแนวการปฏิบัติเกี่ยวกับการสงวนรักษาที่ดี (Register of Good Safeguarding Practices) จำนวน 2 รายการ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://ich.unesco.org/en/14com

********************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 ธันวาคม 2562

          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้กล่าวว่า ที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติประกาศร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และครบรอบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นและทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นผู้เสนอ ซึ่งการเสนอครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี และเวียดนาม

          หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20 เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าบวชเณรเมื่ออายุ 15 ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ 22 ปี ได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ หลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต) ศึกษาพระปริยัติธรรม และออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน จนถึง ประเทศพม่า เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นต้น ท่านได้อาศัยอยู่ตามป่าเขาตลอด 57 ปีของการบรรพชา เป็นพระเกจิอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐานของไทย สายวิปัสสนาธุระ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการภาวนาเจริญสมาธิ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกในปัจจุบัน ท่านได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันดีงาม เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย และต่างประเทศ เมื่อได้นำคำสอนขององค์ท่านไปปฏิบัติตาม ย่อมเกิดความสงบ นำมาซึ่งสันติ แก่คนทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในมติที่ประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้ประกาศการเฉลิมฉลองวันครบรอบ 150 ปีชาตกาล ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (150th anniversary of the birth of the Venerable Ajaan Mun Bhuridatta Thera, monk, 1870-1949) ซึ่งจะครบรอบในวันที่ 20 มกราคม 2563

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวางรากฐานการประถมศึกษาและระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย อันมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน เป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญพระองค์หนึ่งในการสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาการศึกษาประชาบาลที่มีโรงเรียนเป็นฐาน โดยจัดวัดเป็นโรงเรียน ทรงรับพระธุระอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองสอดคล้องกับพระราชปณิธานในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ในการวางระบบการศึกษาตามแผนการศึกษาสยาม พ.ศ. 2441 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาของคนไทยทุกเพศทุกวัยให้ครอบคลุมทั่วทั้งพระราชอาณาจักรและเป็นรากฐานของตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองในการส่งบุตรธิดาเข้ารับการศึกษาภาคบังคับตามที่รัฐกำหนด ซึ่งถือเป็นกระบวนการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในมติที่ประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้ประกาศ การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (100th anniversary of the death of His Royal Highness Prince Vajirananavarorasa, 1860-1921)

          การฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นโครงการที่สำคัญของยูเนสโก ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกยูเนสโกที่เกิดขึ้นในอดีต มีความโดดเด่นสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแบบอย่างของความมีคุณค่าทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน ช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของประชาชนและ/หรือทำให้เกิดสันติภาพของประเทศหรือของโลก

*********************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 พฤศจิกายน 2562

 
         นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการด้านสังคมศาสตร์ (Social and Human Sciences Commission – SHS) ระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2562 ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยการประชุมดังกล่าวมีวาระที่สำคัญคือ การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Preliminary study on a possible standard-setting instrument on the ethics of artificial intelligence) โดยเทคโนโลยีด้าน AI ในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาเชิงจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จาก AI ทั้งในเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และฐานข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดการเอนเอียงไปตามกระแส อีกทั้งการใช้ AI  ยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ยูเนสโกจึงเสนอให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำเครื่องมือสำหรับพัฒนากรอบจริยธรรมเรื่อง AI ขึ้น ให้เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติในรูปแบบของข้อเสนอแนะ (Recommendation) และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการศึกษาและดำเนินการตาม roadmap ต่อไป
 
         ในการนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยสนับสนุนยูเนสโกในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับ  AI โดยที่ผ่านมา ไทยมีความตระหนักและให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาเรื่อง AI มาตลอด ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน  (Conference on the Ethics of Science & Technology, and Sustainable Development ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (the 26thSession of the International Bioethics Committee – IBC)  และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology - COMEST) เพื่อให้เกิดความตระหนักเรื่องผลกระทบของความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงประเด็นเรื่อง AI, Robotics และ Big Data  การจัด Conference ดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และที่ประชุมตอบรับถ้อยแถลง Bangkok Statement on  the Ethics of Science & Technology, and Sustainable Development ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการจัดทำแนวทางและกรอบการดำเนินการระดับนานาชาติเกี่ยวกับจริยธรรมด้าน AI ด้วย ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ยูเนสโกจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป
 
****************************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 พฤศจิกายน 2562

 

          รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาของการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ เกี่ยวกับการดำเนินงานของยูเนสโก ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDG4) โดยเฉพาะการผลักดันการจัดการศึกษาให้คนทุกคน ความเท่าเทียมและคุณภาพการศึกษา ตลอดจนการศึกษาตลอดชีวิตสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง

          รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้หยิบยกบทบาทของสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ในการสนับสนุนรัฐสมาชิกเกี่ยวกับการจัดเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่แม่นยำจะเป็นมาตรวัดที่สำคัญ และช่วยสะท้อนถึงความสำเร็จของการดำเนินการตาม SDG4 รวมทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตาม SDG4 ในระดับชาติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ประเทศไทยได้สนับสนุนกรอบการดำเนินงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายหลังปี ค.ศ 2019 (พ.ศ.2562) เนื่องด้วยเชื่อมั่นการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยพึ่งก่อตั้ง ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลักดันปฏิญญาระดับภูมิภาคว่าด้วยหุ้นส่วนทางการศึกษา “Regional Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งพึ่งได้รับความเห็นชอบจากการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับยูเนสโก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน


          การประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 จัดขึ้นที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-27 พฤศจิกายน 2562 โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

**********************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 พฤศจิกายน 2562

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.00 น. ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 (40th Session of the General Conference) ซึ่งจัดขึ้นในะหว่างวันที่ 12 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสนี้ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมช่วง General Policy Debateซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากรัฐสมาชิกต่างๆ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้านนโยบายและการดำเนินการของประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบยูเนสโก

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึง บทบาทที่โดดเด่นของประเทศไทยในกรอบงานของยูเนสโก โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ การสนับสนุนงานทุกสาขาของยูเนสโก และปัจจุบันได้ร่วมผลักดันการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเท่าเทียมด้านการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายที่ 4 รัฐบาลไทยได้มีนโยบายพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กในระดับอุดมศึกษา โดยส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ โดยใช้สื่อการเรียนการสอนดิจิทัล การพัฒนาคุณภาพของครูแบบองค์รวม ให้ครูได้รับการอบรมในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ พร้อมทั้ง ได้ผลักดันเชื่อมโยงการศึกษากับการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถานที่ทำงานจริง เพื่อให้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน


คำกล่าวรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

          ปัญหาเด็กตกหล่น การออกจากโรงเรียนกลางคันยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายของภูมิภาคอาเซียน และในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2019 โดยให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกในอาเซียน ยูเนสโก และยูนิเซฟ จัดการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ยังได้เห็นชอบปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ในสาขางานด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก (Global Young Academy) เพื่อส่งเสริมให้มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงวิชาการว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conference on the Ethics of Science & Technology and Sustainable Development) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (The 26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO - IBC) และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (The 11th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology - COMEST) เพื่อให้เกิดความตระหนักเรื่องผลกระทบของความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          ประเทศไทยสนับสนุนบทบาทยูเนสโกในการส่งเสริมงานสาขาวัฒนธรรม ในลักษณะข้ามสาขาโดยให้ความสำคัญกับการผลักดันการเสนอมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ให้อยู่ในรายการของยูเนสโก เพื่อการปกป้องและอนุรักษ์ และเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความตระหนักในการปกป้องรักษาภูมิปัญญา ประเพณีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วย

*******************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
14 พฤศจิกายน 2562

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันย่อๆว่า ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เป็นองค์การชำนัญพิเศษแห่งหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเทศสมาชิก 20 ประเทศ ได้ร่วมมือกันให้สัตยาบันธรรมนูญขององค์การ ที่ว่า “สงครามเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย” นอกจากนี้ธรรมนูญยังบ่งชี้ด้วยว่า “สันติภาพที่เกิดจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาล เพียงอย่างเดียวย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แท้จริงและยืนนานจากประเทศต่างๆ ในโลก สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษยชาติ”

 

สมาชิก 193 รัฐสมาชิก (Member States) และสมาชิกสมทบอีก 11 ประเทศ (Associate Members) และมีสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ อีก 199 แห่งทั่วโลก (รายชื่อสำนักเลขาฯ)
ภาษาที่ใช้เป็นทางการขององค์การคือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาที่ใช้ระหว่างการประชุมสมัยสามัญและคณะกรรมการบริหารคือภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อาหรับ สเปน และจีน

จุดมุ่งหมายของยูเนสโกเพื่อส่งเสริมสันติภาพ โดยส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติทางการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีโดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรสหประชาชาติ
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Director-General) คนปัจจุบันคือ นาง Audrey Azoulay (ฝรั่งเศส) ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่

7, place de Fontenoy
75352 Paris 07 SP,
FRANCE
Tel.: +33 (0)1 45 68 10 00
Fax: +33 (0)1 45 67 16 90
https://en.unesco.org
สำนักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่
UNESCO Bangkok Office,
Mom Luang Pin Malakul Centenary Building
920 Sukhumvit Road, Prakanong,
Klongtoei, Bangkok 10110, Thailand
Tel: +66 2 391 0577 Ext. 000
Fax: +66 2 391 0866
https://bangkok.unesco.org/

ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2492 เป็นประเทศที่ 49 (3 ปีหลังจากการจัดตั้งองค์การ) ภายหลังจากการเข้าเป็นสมาชิกรัฐบาลไทยโดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเรียกว่า คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) และจัดตั้งหน่วยงานเพื่อประสานงานเกี่ยวกับยูเนสโกคือ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Secretariat of the Thai National Commission for UNESCO) ซึ่งเป็นไปตามธรรมนูญขององค์การยูเนสโก ที่กำหนดให้รัฐสมาชิกมีหน่วยประสานงานกับองค์การในฐานะตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานสำคัญต่างๆของประเทศ ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่่

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
อาคารสพฐ.5 ชั้น 1
ถนนราชดำเนินนอก ดุสิต กทม.10300
โทร: 02 628 5646 ต่อ114-116
โทรสาร: 02 281 0953
e-mail: [email protected]

ตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการแห่งชาติว่่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

- ประธาน (Chairperson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- รองประธาน (Vice-Chairperson) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- เลขาธิการ (Secretary-General รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ที่กำกับดูแลงานด้านต่างประเทศ)
- รองเลขาธิการ (Vice Secretary-General) ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

  ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2562

Blank Articles