ข่าวความเคลื่อนไหว
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เน้นพลิกโฉมการศึกษาในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 เพื่อข้ามผ่านความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
-
Hits: 1198
วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูม สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสุดยอด เอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาจากสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวมทั้งผู้แทนจากประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมือสุดยอด เอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ตลอดจนติมอร์-เลสเต ในฐานะ ผู้สังเกตการณ์ สำนักเลขาธิการอาเซียน เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียน รวมประมาณกว่า 120 คน
พิธีเปิดการประชุมเริ่มต้นขึ้นในเวลา 11.10 น. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนที่นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล รวมถึง การส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนรู้ดิจิทัลอย่างปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน ดังนั้น ความร่วมมือภายใต้กรอบสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา จึงส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น การผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ การส่งเสริมสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศ ย่อมส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค การพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลจึงไม่ใช่เพียง การใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องพัฒนาผู้เรียนตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จากการประชุมฯ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค ที่จะช่วยพัฒนาการจัดการศึกษา ในยุคดิจิทัลให้สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
ในระหว่างการประชุมฯ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาใน กรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกแปด โอกาสนี้ ประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับ “การพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” โดยเน้นถึงความสำคัญของการพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล การก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้ปฏิวัติวิธีการสอน และการเรียนรู้ได้เปิดโอกาสใหม่ในการเพิ่มการเข้าถึงคุณภาพ และความเท่าเทียมทางการศึกษา การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลของระบบการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความพยายามร่วมกันในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับระบบการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและลดช่องว่างทางดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของปฏิญญาร่วมอาเซียน-ซีมีโอว่าด้วยพื้นที่ร่วมด้านอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on a Common Space in Southeast Asian Higher Education) ในการบูรณาการความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้เรียนทุกคน รวมถึงการฝึกอบรมครูและการพัฒนาวิชาชีพ การพัฒนานวัตกรรมด้านหลักสูตรและเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวได้รับประโยชน์ และโอกาสทางการศึกษาในยุคดิจิทัล
ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 ซึ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือใน 14 สาขา ภายใต้แผนปฏิบัติการมะนิลา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามปฏิญญา กรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (พ.ศ. 2561-2565) และ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในช่วงปี พ.ศ. 2567-2571 ถ้อยแถลงดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับการพลิกโฉมระบบการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการปลูกฝังทักษะด้านดิจิทัล การอ่านออก เขียนได้ โดยคำนึงถึงจริยธรรมและโอกาสของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสนับสนุนทักษะและสมรรถนะในยุคศตวรรษที่ 21 ในหลักสูตรและการศึกษาระดับอุดมศึกษาของ พวกเรา รวมถึงการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งยังให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออก (พ.ศ. 2567-2571) และแผนงานด้านศึกษาของอาเซียน (พ.ศ. 2564- 2568 ทั้งยังมุ่งมั่นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา ด้วยการจัดการเรียน การสอนด้านดิจิทัล การพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตรที่เหมาะสม พัฒนาคุณภาพครู ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และการสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน
ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ประธานได้กล่าวขอบคุณประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมืออาเซียน บวกแปด ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา และการดำเนินกิจกรรมและโครงการความร่วมมือกับประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสนับสนุนการนำข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกแปดมาใช้ในการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัลอย่างเต็มที่
สรุปและเรียบเรียง : คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 สิงหาคม 2567